ข่าวท่องเที่ยวข่าวท่องเที่ยว/กิน

คนไทยอ่วม “ศักดิ์สยาม” ไฟเขียวขึ้นค่าแท็กซี่-เซอร์ชาร์จที่สนามบินขึ้นด้วย คาดมีผล 15 ต.ค.

“ศักดิ์สยาม” ไฟเขียวขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ กม.ที่ 1-10 กม. จาก 6 บาท เป็น 6.50 บาท/กม. รถติดนานขึ้นเป็นนาทีละ 3 บาท ขึ้นเซอร์ชาร์จแท็กซี่สนามบินจาก 50 บาท เป็น 70-90 บาท มีผล 15 ต.ค.นี้ สั่ง ขบ.ทำแอปฯ กลาง เลิก TAXI OK เร่งแก้ กม.ดึงรถป้ายดำเข้าระบบ ยันแกร็บแท็กซี่ผิด กม. 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้ประกอบการแท็กซี่ว่า ได้มีมติที่จะปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7คน (แท็กซี่มิเตอร์) ในเขตกรุงเทพมหานคร โดย (ค่าแรกเข้า) ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรกเก็บเท่าเดิม 35 บาท, ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท (เดิม 6 บาท) ปรับขึ้น 50 สตางค์ เพราะมีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงเพิ่ม

ส่วนระยะต่อไปเก็บอัตราเดิม ได้แก่ ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7 บาท, ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8 บาท, ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9 บาท ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท 

ส่วนกรณีที่รถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ปรับขึ้นจากนาทีละ 2 บาทเป็น 3 บาท โดยจะมีผลก่อนวันที่ 15 ต.ค. 2562 ซึ่งในระหว่างนี้ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เตรียมความพร้อมในการออกประกาศ พร้อมกันนี้ ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่มาใช้เพื่อยกเลิกโครงการ TAXI OK ซึ่งแท็กซี่มีภาระต้องจ่ายค่าบริการ 350 บาท

สำหรับรถแท็กซี่ภายในท่าอากาศยาน จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และต้นทุนจากการวิ่งรถเปล่าจากตัวเมืองไปสนามบิน และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้สนามบิน จึงกำหนดค่าเซอร์ชาร์จ เพิ่มจาก 50 บาท เป็นรถขนาดเล็กไม่เกิน 70 บาท รถขนาดใหญ่ไม่เกิน 90 บาท ส่วนค่าสัมภาระขนาดเกิน 26 นิ้ว จะบริการฟรี 2 ชิ้นแรก ชิ้นที่ 3 เป็นต้นไปเก็บชิ้นละ 20 บาท ซึ่ง ขบ.จะประสานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในการประกาศต่อไป ซึ่งเป็นมาตรฐานของบริการสนามบินในต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารรถแท็กซี่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะพัฒนาระบบ จัดทำแอปพลิเคชันภายใน 1 เดือนให้สมบูรณ์ โดยจะเป็นแอปฯ กลางผู้ให้บริการทุกคนเข้าระบบให้หมดเพราะกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการผูกขาด ดังนั้น อะไรที่ไม่เข้ามาตรฐานก็จะดำเนินการไม่ได้ เช่น ไม่ใช่บริษัทไทย 

สำหรับการนำรถส่วนตัว รถป้ายดำให้บริการภายใต้ แกร็บ นั้น ยืนยันจะต้องนำมาอยู่ในระบบเดียวกัน ซึ่ง ต้องมีการแก้กฎหมายที่กำหนดประเภทรถในการให้บริการ เพื่อให้สามารถนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ยืนยันว่าเป็นการทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเลือกใช้บริการเป็นทางเลือก ซึ่งรถส่วนบุคคลจะมีโครงสร้างค่าโดยสารอีกแบบ ผู้โดยสารอีกกลุ่ม เป็นการแข่งขันในการให้บริการระหว่างแท็กซี่ 

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นด้วยกับการปรับอายุรถแท็กซี่ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานรถ โดยกรมการขนส่งฯ จะตรวจสอบสภาพรถทุก 3 เดือน หากพบรถไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องหยุดวิ่งทันที ไม่มีข้อยกเว้น

มาจาก
ผู้จัดการออนไลน์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button